วิสัญญีวิทยาเป็นวิชาที่ต้องประยุกต์ใช้ความรู้กว้างขวาง ทั้งทางกายวิภาค เภสัชวิทยา สรีรวิทยา ฟิสิกส์ และพยาธิวิทยาของอวัยวะต่างๆ ทั้งยังต้องทราบจุดประสงค์และการรักษาของศัลยแพทย์ทุกสาขาที่ผ่าตัดผู้ป่วย (เช่น สูติแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ ศัลยแพทย์ทั่วไป จักษุแพทย์)
วิสัญญีแพทย์ต้องเข้าใจว่า แต่ละโรคทำให้เกิดความผิดปกติอะไรบ้าง ต้องผ่าตัดทำอะไรใช้เวลานานเพียงใด จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะสามารถช่วยให้ความปลอดภัย ให้เกิดอันตรายน้อยลง หรือช่วยบรรเทาทุกขเวทนาได้
ในบทความนี้ จะเล่าถึงลักษณะงานของวิสัญญีแพทย์ ออกซิเจน ยาดมสลบ และยาชา โดยแบ่งเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงจะมีเรื่องราวทั้งในปัจจุบัน เมื่อยาแต่ละชนิดได้รับการศึกษาค้นคว้าโดยละเอียดแล้ว และเรื่องราวในอดีตเมื่อโลกเพิ่งค้นพบความมหัศจรรย์ของยาเหล่านั้น
หน้าที่ของวิสัญญีแพทย์
วิสัญญีแพทย์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “หมอดมยา” มีหน้าที่หลักคือให้การระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยในระหว่างการผ่าตัด คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเมื่อเข้ามาในห้องผ่าตัดแล้วจะได้รับการ “ดมยา” จนหลับใหล ไม่รู้สึกตัว
อันที่จริงการระงับความเจ็บปวดอาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ แบบหนึ่งให้ยาสลบทั้งตัว คือทำให้หมดสติ และอีกแบบหนึ่งให้ยาชาเฉพาะที่ทำให้บริเวณที่ทำผ่าตัดไม่รู้สึกเจ็บปวด โดยผู้ป่วยไม่หมดสติ วิสัญญีแพทย์ในปัจจุบันยังดูแลผู้ป่วยนอกห้องผ่าตัดอีกด้วย เช่น ดูแลผู้ป่วยหนักที่อยู่ในขั้นวิกฤต ในหออภิบาล อยู่ในทีมช่วยกู้ชีวิตให้ฟื้นคืนชีพ ให้การระงับความเจ็บปวดเรื้อรังในผู้ป่วยมะเร็ง รับปรึกษาเรื่อง การใช้เครื่องช่วยหายใจ และเปิดทางหายใจ ช่วยลดความกังวลหรือความหวาดกลัวในการทำฟันและการตรวจต่างๆ เป็นต้น
ออกซิเจน : ก๊าซจำเป็นสำหรับชีวิต ก๊าซซึ่งเปรียบเสมือนเงินก้นถุงหรือวัสดุก้นกระเป๋าของวิสัญญีแพทย์คือออกซิเจน ซึ่งใช้ทั้งในระหว่างให้ยาสลบและยาชาเฉพาะที่ ออกซิเจนจำเป็นมากสำหรับผู้ป่วยที่มีการหายใจหรือการทำงานของหัวใจล้มเหลว และผู้ป่วยช็อค แต่ออกซิเจนก็มิใช่จะไร้อันตราย เนื่องจากการให้ออกซิเจนในทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดอาจทำให้ตาบอดหรือการทำงานของปอดล้มเหลวได้ แม้แต่ในผู้ใหญ่ถ้าได้รับออกซิเจนมากเกินไป หรือเป็นเวลานานเกินไปก็มีอันตรายต่อปอดได้ ในปัจจุบัน ออกซิเจนได้รับการศึกษามาแล้วอย่างลึกซึ้ง มีระบบอุตสาหกรรมสำหรับเตรียมออกซิเจน บรรจุในภาชนะซึ่งมีระหัสและระบบควบคุมความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนกับก๊าซอื่นหรือเกิดการระเบิด สำหรับผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังที่เป็นรุนแรงและต้องการออกซิเจนตลอดเวลา ก็มีเครื่องผลิตออกซิเจนจากอากาศสำหรับให้ใช้ตามบ้านเหมือนกับยาทั่วๆ ไป
ยาดมสลบ ในบรรดา “ยา”ทั้งหลายที่แพทย์ใช้วิสัญญีแพทย์เป็นผู้ใช้ยาที่แรงมากที่สุดประเภทหนึ่ง นั่นคือ “ยาดมสลบ” ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหมดสติอย่างรวดเร็วและลึก จนไม่รู้สึกตัวถึงความเจ็บปวดอันร้ายแรงจากมีดผ่าตัด แต่คุณสมบัติที่สำคัญของยาดมสลบก็คือ เมื่อค่อยๆ ลดยาจนหยุดให้ยาแล้ว ผู้ป่วยซึ่งแน่นิ่งไม่รู้สึกตัวนั้นจะค่อยๆ ฟื้นคืนสติกลับมาใหม่ โดยไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อสมองต่อไปอีก และผู้ป่วยไม่สามารถระลึกถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผ่าตัดได้เลย
ยาดมสลบซึ่งเป็นก๊าซและไอระเหย เข้าสู่ผู้ป่วยโดยผ่านทางเครื่องดมยาสลบ ในห้องผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะตื่นเต้นจนไม่ทันสังเกตเห็นว่าเครื่องดมยาสลบเต็มไปด้วยสายระโยงระยาง โครงเหล็ก ลิ้นเปิดปิดลดความดัน และมาตรวัด ตลอดจนอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย และต้องผ่านหลายทอดกว่าจะมาถึงหน้ากากครอบปากจมูกผู้ป่วยซึ่งเป็นทางที่ผู้ป่วยได้รับยาดมสลบ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่มีโอกาสได้เห็นหน้ากากครอบปากจมูก เพราะ วิสัญญีแพทย์จะฉีดยานำสลบซึ่งเป็นของเหลวเข้าทางสายน้ำเกลือเพื่อทำให้ผู้ป่วยเริ่มหมดสติก่อน แล้วจึงครอบหน้ากากลง และเปิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ (nitrous oxide) และไอระเหยของฮาโลเธน (halothane) ออก จากเครื่องดมยาสลบ เพื่อให้ผู้ป่วยสลบลึกและนานอยู่ตลอดเวลาที่ทำการผ่าตัด
อันที่จริง นอกจากยาดมสลบและยานำสลบแล้วยังมียาระงับปวด ยาหย่อนกล้ามเนื้อ ยาต้านฤทธิ์ยา หย่อนกล้ามเนื้อ และยาอื่นๆ อีกที่ผู้ป่วยอาจได้รับ ยาบางขนานมีทั้งคุณและโทษ และอาจทำให้เกิดอาการ แทรกซ้อนได้ ได้แก่ ฤทธิ์ต่อหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำ, ฤทธิ์ต่อระบบหายใจซึ่งทำให้ผู้ป่วยหายใจน้อยไปหรือหลอดลมตีบ, ฤทธิ์ต่อตับไต, และปฏิกิริยาระหว่างยาชนิดต่างๆ ดังนั้น ใน ระหว่างที่ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์หรือวิสัญญีพยาบาลจะต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
ที่มา:google
📞ปรึกษาโทร : 02-7147663 , 02-7147665
📲Chat Now : www.fb.com/messages/t/STMstyle
📲Line Official : http://line.me/ti/p/@stmstyle
👉เว็บไซต์ www.stmstyle.com